วิจารณ์วรรณกรรมแนวมาร์กซิสต์ เรื่องเดือนเสี้ยว ของเหลาเส่อ

                 "เหลาเส่อ" เป็นนามปากกา ซู่ชิ่งชุน เกิดที่กรุงปักกิ่งในครอบครัวชาวแมนจู เริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม ก่อนจะมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ในช่วงหลังของชีวิต เหลาเส่อกลับจากสหรัฐมาอยู่บ้านเกิดตามคำเชิญของนายกฯ โจวเอินไหล เหลาเส่อซื้อบ้านหลังหนึ่งตั้งชื่อว่า "บ้านแห่งความอุดมสมบูรณ์" ต่อมาเขาและเพื่อนนักเขียนถูกกองทัพแดงจับตัวไปในข้อหาคิดปฏิวัติซ้อน เหลาเส่อถูกทารุณและแห่ประจาน เขาเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 77 ปี  โดยมีผู้พบศพในทะเลสาบไถผิง โดยไม่ทราบสาเหตุว่าเป็นการฆาตกรรมหรือฆ่าตัวตาย
          วรรณกรรมเรื่อง "เดือนเสี้ยว" ถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญของเหลาเส่อเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นนวนิยายขนาดกลางที่ดีที่สุดของเขา อันได้สะท้อนถึงภาวะพิกลพิการและสกปรกโสโครกของสังคมเก่าที่เน่าเฟะ ใน "เดือนเสี้ยว" เหลาเส่อได้ใช้สรรนามบุคคลที่หนึ่ง พรรณนาถึงชีวิตของเด็กสาวที่แสนซื่อและบริสุทธิ์คนหนึ่ง พอย่างเข้าสู่วัยสาว ก็หาทางดำรงชีวิตของตนต่อไปในสังคมยุคนั้นไม่ได้ และเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ ก็จำต้องปล่อยชีวิตตัวเองให้ล่องลอยไปตามยถากรรมจนอนาคตถูกทำลายพินาศย่อยยับไป
          จากในวรรณกรรม เนื้อเรื่องเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยสาธารณรัฐจีน หลังจากล้มล้างราชวงศ์ชิงได้สำเร็จ ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านยุคสมัยจากยุคศักดินาสมัยราชวงศ์มาเป็นแบบทุนนิยม ดังนั้นจึงเห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นซึ่งเป็นผลจากทุนนิยมที่เปลี่ยนผ่านของจีนจากฐานะของตัวละครซึ่งยากจนเป็นอย่างมาก ตั้งแต่พ่อได้เสียชีวิตไป แม่จำต้องยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกได้กินอิ่ม ตั้งแต่หาสามีใหม่ที่มีฐานะบ้าง ไปจนถึงเป็นโสเภณีเถื่อน แต่งตัวพร้อมทัดดอกไม้ยืนอยู่หน้าบ้านรับคอยรับแขก เพื่อให้ได้เงินเล็กน้อยๆ มาซื้อหาอาหารประทังชีวิต ผู้เขียนได้สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมในช่วงเวลานั้นออกมาในรูปแบบของตัวละครแต่ละตัวในวรรณกรรมได้เห็นภาพอย่างชัดเจน การเอาชีวิตรอดของชนชั้นล่างในสมัยนั้น หากเป็นผู้ชายพอทำงานได้ก็ต้องขายแรงงาน ส่วนผู้หญิงเนื่องจากสมัยก่อน ผู้หญิงจะต้องอยู่แต่ในบ้าน มีหน้าที่ทำงานบ้านเพียงเท่านั้น พอเมื่อสังคมเปลี่ยน วิชาการ หรือวิชาชีพที่ผู้หญิงจะนำไปใช้หาเงินก็ไม่มี หนทางเดียวที่จะหารายได้ของผู้หญิงในสมัยนั้นคือการเป็นโสเภณีอย่างไม่มีทางเลือก พอเมื่อแม่แก่ตัวลงไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ คราวนี้ลูกจึงต้องเป็นผู้เลี้ยงแม่บ้าง จำใจต้องเดินทางสายเดียวกับแม่ตัวเองเพื่อให้ได้เงินมา ทั้งๆที่ตนเองตั้งใจว่าอย่างไรก็จะไม่ขอเป็นโสเภณีแบบแม่ของตน และด้วยความว่าเป็นโสเภณีเถื่อน ลำพังเงินที่หาได้ก็แทบไม่พอกิน จึงไม่มีเงินมาเสียภาษีให้รัฐบาลเพื่อขายบริการอย่างถูกกฎหมาย ก็ต้องถูกจับ โดยรวมวรรณกรรมเรื่องนี้อ่านแล้วให้อารมณ์เศร้า สงสาร ผู้เขียนต้องการใช้ตัวละครดังกล่าวสะท้อนชีวิตชนชั้นล่างของสังคมสมัยนั้นให้ชนชั้นปกครองเห็น เนื่องจากการขูดรีดภาษีจนชาวบ้านเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า การโกงกินกันของรัฐบาลโดยไม่สนปากท้องของประชาชน จนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีชัยในสงครามกลางเมือง ค.ศ.1949 ส่งผลให้ประเทศจีนเกิดการเปลี่ยนผ่านจากทุนนิยม ไปสู่สังคมนิยมเต็มรูปแบบ


          เรื่อง “เดือนเสี้ยว” แม้ไม่ได้เป็นวรรณกรรมที่เขียนแสดงออกชัดเจนถึงอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ แต่ถือว่าเป็นตัวอย่างวรรณกรรมหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นจุดบกพร่องของทุนนิยม ความเหลื่อมล้ำของสังคมสมัยนั้น ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ผู้เขียนหยิบยกขึ้นมาบรรยายเป็นภาพวิถีชีวิตที่ไม่มีทางเลือกของชนชั้นล่างได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

1 ความคิดเห็น:

  1. ขออนุญาตสอบถามหน่อยครับ
    อยากทราบที่มาของบทความนี้ครับว่ามาจากหนังสือเล่มใดหรือว่าวิจัยเล่มไหนครับ พอดีว่าผมกำลังสนใจเรื่องนี้แล้วนำไปทำวิทยานิพนธ์น่ะครับ กำลังหาข้อมูลอ้างอิง แล้วบทความนี้น่าสนใจเพื่อที่จะนำไปอ้างอิงอ่ะครับ

    ตอบลบ